เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง เลือดจะไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้อยลง ถ้าเป็นมากก็จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถ้าหลอดเลือดอุดตันสนิทอย่างฉับพลัน เลือดจะไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย มักมีอาการแน่นหน้าอกระหว่างราวนม ลิ้นปี่ คล้ายมีอะไรบีบรัดหรือกดทับ อาจร้าวไปที่คอกราม แขนซ้ายด้านใน และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก ตัวเย็น เวียนศรีษะ หน้ามืด เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ ใจสั่น เป็นต้น
การขยายหลอดเลือดหัวใจ คือ การขยายหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีอีกครั้งหนึ่ง อุปกรณ์ที่ใช้ในการขยายหลอดเลือดหัวใจ คือ “บอลลูน” จึงเรียกวกันโดยทั่วไปว่า “การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน” (Balloon Angioplasty) การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นและเทคนิคการทำมีการพัฒนาอย่างเร็วมาก นอกจากบอลลูนที่เป็นอุปกรณ์หลักในการขยายหลอดเลือดแล้ว ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นและนำมาใช้ร่วมกับบอลลูนเพื่อทำให้ผลการรักษาดีขึ้น เช่น “ขดลวด” (stent) ซึ่งนอกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนแล้ว ยังเพิ่มความปลอดภัย และลดปัญหาเรื่องการตีบตันซ้ำกลับบริเวณที่ทำบอลลูนไปอีกด้วย ปัจจุบันร้อยละ 70-80 ของการทำบอลลูนขยายหลอดเลือด แพทย์มักจะใส่ขดลวดร่วมด้วย
นวัตกรรมของการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด
ขดลวดเคลือบยา (Drug Eluting Stent) เป็นนวัตกรรมของการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและขดลวด ขดลวดดังกล่าวเคลือบด้วยยาที่สามารถลดหรือยังยั้งกระบวนการสมานแผลของหลอดเลือดที่นำไปสู่การตีบตันซ้ำลงไป เมื่อใส่ขดลวดเคลือบยานี้แทนขดลวดธรรมดาจะสามารถลดโอกาศเกิดการตีบซ้ำลงได้ แต่ขดลวดดังกล่าวมีราคาค่อนข้างสูง ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์และผู้ป่วยด้วย
- การกระตุ้นหัวใจในห้องปฏิบัติการ เป็นการตรวจผู้ป่วยที่สงสัยมีการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ผู้ป่วยที่รอดจากการปฏิบัติการกู้ชีพ และในผู้ป่วยที่เป็นลมหมดสติบ่อยๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้
- การผ่าตัดฝังเครื่องช็อกหัวใจแบบอัตโนมัติ (Automatic implantable cardioverter defibrillator, AICD ) การช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าภายนอก เพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่เกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นเร็วมากจนความดันโลหิตต่ำ คลำชีพจรไม่ได้ ถ้าหัวใจไม่กลับมาเต้นปกติอย่างทันที ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากภาวะนี้ได้
- การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) คือ การใส่เครื่องกระตุ้นการทำงานของการส่งคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อรักษาอาการหัวใจเต้นช้าเกินไป ซึ่งภาวะดังกล่าวจะทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและสมองไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ มึนงง เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวกหรือเป็นลมหมดสติ
- การตรวจสภาพภายในหลอดเลือดหัวใจ ด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ชนิดพิเศษ Intravascular Ultrasound คือ การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยอุปกรณ์พิเศษขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร ซึ่งเรียกกันว่า IVUS เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ที่อายุระแพทย์โรคหัวใจผู้เชี่ยวชาญทางด้านการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนสามารถนำมาใช้เพื่อวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้อย่างแม่นยำ และสามารถมงอเห็นผนังด้านในของหลอดเลือดหัวใจที่หนาตัวผิดปกติได้อย่างละเอียดครบถ้วน โดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดขณะนี้ รวมถึงสามารถบอกส่วนประกอบและรายละเอียดของชั้นไขมันที่สะสมในผนังหลอดเลือดหัวใจว่ามีมากน้อยเพียงใดที่สำคัญ IVUS ยังสามารถที่จะให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำสูง บอกถึงขนาดของหลอดเลือดหัวใจจริงๆ ได้อย่างละเอียดถึงจุดทศนิยมสองตำแหน่ง ซึ่งไม่สามารถทำได้ด้วยการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือการแพทย์อื่นๆ ในขณะนี้ ทำให้วางแผนการรักาได้อย่างมีประสิทธิภาพเปรียบเสมือนการออกเดินเรือในมหาสมุทร โดยใช้สัญญาณดาวเทียม ซึ่งจะทำให้มีความปลอดภัยในการเดินทางสูงสุด