fbpx
  • บทความสุขภาพ

  • 1

สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมนั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด ทราบเพียงว่ามีปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ยกตัวอย่างเช่น

1. เพศ เพศหญิงมีฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งสามารถกระตุ้นการเจริญของเซลส์มะเร็งเต้านมได้ จึงมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้มากกว่าเพศชาย แต่ผู้ชายก็สามารถป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้เช่นกันโดยมีอุบัติการณ์ของโรคนี้น้อยกว่าผู้หญิงเกือบ 100 เท่า

2. อายุ เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเป็นมะเร็งเต้านมก็เพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยจะมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

3. กรรมพันธุ์ ผู้หญิงที่มีญาติสายตรง ได้แก่ มารดา พี่สาว น้องสาว และลูกสาว เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะในกรณีที่ญาติเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อยหรือเป็นกันหลายคน จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นหลายเท่า

4. ประวัติโรคมะเร็งในอดีต ถ้าเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน ก็มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้างหรือบริเวณรอบเต้านมข้างเดิมมากกว่าคนปกติที่ไม่เคยเป็นมะเร็งมาก่อน 3-4 เท่า

5. ประวัติโรคทางเต้านมในอดีต ถ้าเคยผ่าตัดรักษาโรคทางเต้านมมาก่อน จะทราบผลชิ้นเนื้อของก้อนที่ผ่าตัดรักษาออกมา ซึ่งโรคบางโรคที่มีการเจริญของเซลส์ผิดปกติในเต้านมสามารถที่จะเพิ่มความเสี่ยงหรือพัฒนากลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ในอนาคต เช่น Atypical ductal hyperplasia (ADH), Atypical lobular hyperplasia (ALH) และ Lobular carcinoma in situ (LCIS) เป็นต้น

6. ประวัติประจำเดือน การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หรือ หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ร่างกายของผู้หญิงจะมีช่วงเวลาสัมผัสกับฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

7. ประวัติการรับรังสีบริเวณเต้านม ไม่ว่าจะเป็นการรับรังสีจากการฉายแสงเพื่อรักษาโรคหรือจากสารกัมมันตภาพรังสี ในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 ปี พบว่าเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

8. การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร ผู้ป่วยที่ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีบุตรคนแรกตอนอายุมากกว่า 30 ปีจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะเดียวกันการตั้งครรภ์หลายครั้งและมีบุตรตั้งแต่อายุน้อยสามารถลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้ และการให้นมบุตรเป็นเวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไปก็อาจจะช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้เช่นกัน

9. ยาคุมกำเนิดและการใช้ฮอร์โมน ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ แต่ความเสี่ยงที่ว่านี้จะหมดไปหากหยุดใช้ยาเกิน 10 ปี ส่วนการใช้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อรักษาอาการของภาวะหมดประจำเดือนจะเพิ่มทั้งความเสี่ยงและอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม 

10. ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งได้ถ้าดื่มเป็นประจำทุกวัน ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินโดยเฉพาะในสตรีวัยหมดประจำเดือนจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมได้เนื่องจากไขมันส่วนเกินเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเพศทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น

แต่ก็ไม่จำเป็นหากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมแล้ว ผู้หญิงรายนั้นจะต้องป่วยเป็นมะเร็งเต้านมเสมอไป เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงเลยแต่กลับป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นเดียวกัน จึงสรุปว่าถึงแม้จะมีหรือไม่มีปัจจัยเสี่ยง ก็ควรเอาใจใส่ในสุขภาพเต้านมของตนเอง เพราะในการป้องกันและรักษามะเร็งเต้านมนั้น ถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรคที่มักจะไม่แสดงอาการทางร่างกายใดๆ จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคได้สูงและสามารถมีอายุยืนยาวเหมือนคนปกติที่ไม่ได้เป็นมะเร็ง จึงมีการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุขให้ผู้หญิงอายุมากกว่า 20 ปีทุกคนตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และเมื่ออายุครบ 35 ถึง 40 ปีก็ควรมาตรวจเต้านมกับแพทย์ที่โรงพยาบาล ทำแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เต้านมเป็นประจำทุก

แต่ก็ยังมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวนหนึ่งมาพบแพทย์ด้วยการคลำพบก้อนเนื้อขนาดใหญ่ในเต้านม โดยโรคระยะนี้มักจะเริ่มมีการกระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองและอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นของร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

รับคำแนะนำเพิ่มเติม
 

ข้าพเจ้ายินยอมโดยสมัครใจให้คณะแพทย์ – พยาบาล, เจ้าหน้าที่ และ/หรือ บุคลากรอื่นๆ ในทีมสุขภาพของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ทำการตรวจรักษาและกระทำการใดๆ ตามหลักวิชาชีพทางการแพทย์ เปิดเผยข้อมูลการตรวจรักษาของข้าพเจ้าให้แก่ทีมสุขภาพของโรงพยาบาล ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความจำเป็นในการเข้าถึงข้อมูลของข้าพเจ้า ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับทราบถึงคำประกาศสิทธิผู้ป่วย และ ข้อกำหนดความเป็นส่วนตัวเป็นอย่างดีแล้ว