- มีก้อนหรือการหนาตัวขึ้นของเนื้อเต้านมหรือบริเวณใต้รักแร้
- การเปลี่ยนของขนาด สี หรือรูปร่างของเต้านม
- มีของเหลวหรือเลือดไหลออกมาจากหัวนม
- ผิวหนังบริเวณเต้านมและหัวนมมีความผิดปกติ เช่น บวมแดง ดูคล้ายผิวส้ม มีการยุบหรือบุ๋มลงไป เป็นผื่นหรือแผลเรื้อรัง เป็นต้น
- เต้านมอักเสบ
- ไม่มีอาการผิดปกติ แต่พบรอยโรคจากการตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตร้าซาวด์เต้านม
ส่วนใหญ่สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาตรวจกับแพทย์และกังวลว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่นั้น จะมาด้วย 2 อาการหลัก คือ มีก้อนที่เต้านม รองมาคือ เจ็บหรือปวดเต้านม โดยผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บเต้านมมักจะกลัวว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมมาก ทำให้มาพบแพทย์ค่อนข้างเร็ว ต่างกับผู้ป่วยที่มีก้อนที่เต้านม คลำได้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ มักจะปล่อยไว้เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร จนก้อนมีขนาดใหญ่โตขึ้น ทำให้รู้สึกเจ็บ แล้วค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งถ้าก้อนนั้นเป็นก้อนเนื้อมะเร็งก็อาจมีการกระจายหรือลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่นแล้ว ดังนั้นเมื่อคลำพบก้อนที่เต้านมควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว เพราะร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน โดยที่ไม่มีอาการเจ็บ ส่วนอาการเจ็บเต้านมนั้นเป็นอาการที่พบได้เท่าๆ กันทั้งในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บเต้านมนั้นพบว่ามีเพียงร้อยละ 10-15 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด อาการเจ็บเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่จนดึงรั้งผิวหนังบริเวณเต้านมที่มีประสาทรับความรู้สึกมากโดยเฉพาะตรงหัวนม หรือก้อนมะเร็งที่ลุกลามมาถึงชั้นผิวหนังทำให้เกิดแผลหรือผื่นผิดปกติขึ้น