fbpx
  • บทความสุขภาพ

  • 1

รู้เท่าทัน เพื่อป้องกัน และอยู่กับเบาหวาน

Diabetes1

 

โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าค่าปกติ ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลักๆ 2 อย่างได้แก่ ส่วนแรกคือพันธุกรรม ถ้ามีพ่อแม่ พี่น้องเป็นเบาหวาน ก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่คนไข้จะเป็นเบาหวาน และอีกส่วนที่สอง ซึ่งสำคัญกว่ามาก คือวิธีการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายและวิธีการใช้ชีวิต การทานอาหารหวาน ของหวาน อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลปริมาณมากเกินไป รวมถึงอาหารไขมันสูง การไม่ออกกำลังกาย การใช้ชีวิตและทำงานโดยขยับเคลื่อนไหวร่างกายเพียงเล็กน้อย หรือที่เราเรียกว่า sedentary lifestyle ล้วนส่งเสริมให้เกิดภาวะอ้วน น้ำหนักตัวเกินมาตราฐาน

ภาวะอ้วนจากไขมันสะสมที่มากเกินไป ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าการดื้อต่ออินซูลิน โดยปกติร่างกายจะสามารถหลั่งฮอร์โมนอินซูลินมาจากตับอ่อน โดยฮอร์โมนตัวนี้จะทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติ ถ้าเรามีภาวะอ้วน ไขมันที่สะสมในร่างกายจะทำให้การทำงานของฮอร์โมนอินซูลินนี้แย่ลง คือเกิดภาวะที่เรียกว่าการดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ดีอย่างเดิม และนอกจากนี้แล้วในระยะยาว ในคนไข้ที่ยังไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้ได้ดี ตัวตับอ่อนเองที่สัมผัสกับระดับน้ำตาลสูงๆ มาเป็นระยะเวลายาวนาน จะโดนทายจนผลิดฮอร์โมนอินซูลินได้ลดลงไปด้วย ทำให้สุดท้ายถ้าผลิตได้น้อย ไม่เพียงพอ อาขขะต้องได้ใช้ยาฉีดอินซูลิน

การวินิจฉัย

โรคเบาหวานสามารถวินิจฉัยได้โดยการตรวจเลือด โดยตรวจได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบที่ 1 ตรวจน้ำตาลช่วงอดอาหาร ซึ่งเป็นวิธีที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดโดยมีค่าปกติคือไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ค่าระหว่าง 100 ถึง 125 เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวานหรือ pre diabetic และตั้งแต่ 126 เป็นโรคเบาหวาน การตรวจแบบที่สองคือการตรวจค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือเรียกว่า Hemoglobin A1c โดยค่าปกติคือน้อยกว่า 5.7๔ ค่าระหว่าง 5.7 ถึง 6.4% เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวานหรือ pre diabetic และตั้งแต่ 6.5% คือเป็นโรคเบาหวาน และแบบที่สาม ซึ่งเป็นการตรวจที่ซับซ้อนที่สุด แต่สามารถวินิจฉัยเบาหวานได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น คือการดื่มน้ำหวานแล้วเจาะเลือดที่ 2 ชั่วโมงให้หลัง ถ้าค่าน้ำตาลหลังดื่มน้ำหวานอยู่ระหว่าง 140 ถึง 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวานหรือ pre diabetic และมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็นโรคเบาหวาน

การรักษา

เป้าหมายการรักษาเบาหวาน หลักๆมีสองอย่าง อย่างแรกคือควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ โดยเราจะตรวจเลือดติดตามทั้งระดับน้ำตาลรายวัน ช่วงอดอาหาร น้ำตาลช่วงหลังอาหาร และน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในช่วง 3 เดือน การรักษาให้ระดับน้ำตาลอยู่ในช่วงปกติ ไม่ต่ำเกินไป ทำให้ไม่มีอาการหน้ามืด ใจสั่น วินเวียนคล้ายจะเป็นลม และไม่ให้ระดับน้ำตาลสูงเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดอาการวินเวียน มึนงง หรือหอบเหนื่อย และอาจร้ายแรงถึงขึ้นซึม หมดสติหรือชักได้ เป้าหมายอย่างที่สองคือรักษาเบาหวานคุมน้ำตาลเพื่อป้องกันโรคและภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่จะตามมาใน 10-20 ปีถัดไป เช่น ตาบอดจากเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ไตวายต้องล้างไตจากเบาหวานลงไต หัวใจวาย เส้นเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบหรืออัมพาต แผลติดเชื้อที่เท้า เส้นเลือดไปเลี้ยงที่ขาขาดเลือด

การรักษาเบาหวานสามารถใช้ทั้งยารับประทาน ยาฉีดรายสัปดาห์ หรือยาฉีดอินซูลิน เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาล โดยในช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจต้องใช้ยาร่วมกันหลายชนิด เมื่อใช้ยารักษาไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง ร่วมกับการปรับเปลี่ยนอาหารและเพิ่มการออกกำลังกาย ผู้ป่วยบางรายที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น สามารถลดชนิดและปริมาณยารักษาเบาหวานลงได้ โดยสามารถใช้จำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และในบางรายก็สามารถหยุดยาเบาหวานได้

ยารักษาเบาหวานทุกชนิด ไม่มีผลทำลายตับหรือไตในระยะยาว ตรงกันข้ามยาบางชนิดสามารถช่วยลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย หรือเส้นเลือดที่ขาขาดเลือดได้ด้วย

ข้อมูลอ้างอิง:

• DeFronzo RA. Banting lecture. From the triumvirate to the ominous octet: a new paradigm for the treatment of type 2 diabetes mellitus. Diabetes. 2009;58:773–795.
• Magkos, F., Hjorth, M.F. & Astrup, A. Diet and exercise in the prevention and treatment of type 2 diabetes mellitus. Nat Rev Endocrinol 16, 545–555 (2020).
• Garber AJ, Handelsman Y, Grunberger G, Einhorn D, Abrahamson MJ, Barzilay JI, Blonde L, Bush MA, DeFronzo RA, Garber JR, Garvey WT, Hirsch IB, Jellinger PS, McGill JB, Mechanick JI, Perreault L, Rosenblit PD, Samson S, Umpierrez GE. CONSENSUS STATEMENT BY THE AMERICAN ASSOCIATION OF CLINICAL ENDOCRINOLOGISTS AND AMERICAN COLLEGE OF ENDOCRINOLOGY ON THE COMPREHENSIVE TYPE 2 DIABETES MANAGEMENT ALGORITHM - 2020 EXECUTIVE SUMMARY. Endocr Pract. 2020 Jan;26(1):107-139.

 

รับคำแนะนำเพิ่มเติม
 

ข้าพเจ้ายินยอมโดยสมัครใจให้คณะแพทย์ – พยาบาล, เจ้าหน้าที่ และ/หรือ บุคลากรอื่นๆ ในทีมสุขภาพของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ทำการตรวจรักษาและกระทำการใดๆ ตามหลักวิชาชีพทางการแพทย์ เปิดเผยข้อมูลการตรวจรักษาของข้าพเจ้าให้แก่ทีมสุขภาพของโรงพยาบาล ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความจำเป็นในการเข้าถึงข้อมูลของข้าพเจ้า ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับทราบถึงคำประกาศสิทธิผู้ป่วย และ ข้อกำหนดความเป็นส่วนตัวเป็นอย่างดีแล้ว

เบาหวานลงไต ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน