กระท่อมเป็นพืชสมุนไพร ที่มีสารออกฤทธิ์กลุ่ม โอปิออยด์ (opioids) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับยาเฟนทานิล (Fentanyl) ยามอร์ฟีน (Morphine) ยาเมทาโดน (Methadone) และยาทรามาดอล (Tramadol) ซึ่งใช้เป็นยาในการระงับปวดเป็นหลัก ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า กระท่อมมีประโยชน์ในการรักษาเบาหวานในมนุษย์แต่อย่างใด แม้นจะมีการศึกษาเล็กๆในสัตว์ทดลองบ้าง เช่นในหนูว่ากระท่อมอาจจะช่วยให้มีการนำเอาน้ำตาลไปใช้ในเซลล์ของหนูมากขึ้น แต่การศึกษาเหล่านี้ยังเป็นเพียงในระดับสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่มีการศึกษาขนาดใหญ่ในมนุษย์ที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพของกระท่อมในการรักษาเบาหวาน นอกจากนี้แล้วยังมีหลักฐานยืนัยนว่าการใช้กระท่อม นำไปสู่ภาวะตับวาย ไตวาย หัวใจเต้นผิดจังวหะ ชักหมดสติได้ด้วย โดยมีรายงานการเสียชีวิตจากกระท่อมอย่างน้อย 38 รายในสหรัฐอเมิรกาจนถึงปี 2018
ปัจจุบันองค์การอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration) ยังไม่อนุมัติให้ใช้กระท่อมในการรักษาโรคใดๆ รวมถึงโรคเบาหวาน และทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไทย ยังไม่ให้ใช้กระท่อมในการรักษาเบาหวานด้วยเช่นกัน
นพ.บวรคุณ ตันติวุฒิกุล
อายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม
ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
ข้อมูลอ้างอิง:
Ref. Eastlack SC, Cornett EM, Kaye AD. Kratom-Pharmacology, Clinical Implications, and Outlook: A Comprehensive Review. Pain Ther. 2020;9(1):55-69. doi:10.1007/s40122-020-00151-x
Ref. https://www.fda.gov/news-events/press-announcements/statement-fda-commissioner-scott-gottlieb-md-agencys-scientific-evidence-presence-opioid-compounds