fbpx
  • บทความสุขภาพ

  • 1

นพ.ฐาปนัสม์ ลิขิตมาศกุล แรงบันดาลใจจากแม่ - ศิลปะ กับงานศัลยแพทย์เต้านม

 heartinterview

จากข้อมูลทางการแพทย์ที่ระบุว่าจำนวนคนไข้โรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ที่พบในประเทศไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 เป็นต้นว่า มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่าสามสี่หมื่นคนต่อปีและยังมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวประมาณปีละกว่าสามพันคน หรือประมาณ 7 คนต่อวัน ที่สำคัญโรคนี้ยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนไข้สูงแทนที่โรคมะเร็งปากมดลูก จนปัจจุบันเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีไทยและสตรีทั่วโลก ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่น่าตกใจ  

คอลัมน์เมืองชลคนเก่ง ไม่รอช้าที่จะเชิญ  “นพ.ฐาปนัสม์ ลิขิตมาศกุล”ศัลยแพทย์เต้านม ผู้เชี่ยวชาญการตรวจวินิจฉัยและรักษา จากศูนย์เต้านม โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา  ที่จะมาบอกเล่าถึงปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งวิธีการตรวจหาก้อนที่เต้านมด้วยตนเองและขั้นตอนการรักษา เพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นกับท่านผู้อ่านที่สนใจ  

นพ.ฐาปนัสม์ บอกว่าปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเกิดโรคมะเร็งเต้านมที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า มีความสัมพันธ์กันก็คือพันธุกรรมและฮอร์โมน โดยสตรีที่มีพี่น้อง หรือญาติใกล้ชิดที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมหลายคนหรือตั้งแต่อายุน้อย ย่อมมีโอกาสเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคดังกล่าวมากกว่าสตรีทั่วไป  เช่นเดียวกับผู้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการใช้ฮอร์โมนเพศ ทั้งในส่วนของยาคุมกำเนิด หรือการใช้ฮอร์โมนเพื่อประโยชน์ใดก็ตาม รวมทั้งผู้ที่ไม่มีบุตร ไม่เคยให้นมบุตร  มีประจำเดือนเร็ว หมดประจำเดือนช้า ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้สูงขึ้นเช่นกัน 

และจากสถิติล่าสุดยังพบว่า จังหวัดที่มีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุดอยู่ที่จังหวัดชลบุรี รองลงมาคือกรุงเทพฯ และระยอง ซึ่งล้วนเป็นจังหวัดใหญ่ และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ  สังคมเมืองและอุตสาหกรรม  ทำให้ประชาชนมีโอกาสสัมผัสสารก่อมะเร็งได้มาก โดยเฉพาะเมืองพัทยา ที่ถือเป็นเขตพิเศษซึ่งมีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวจำนวนมากกว่าบริเวณอื่น จากการมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย โดยเฉพาะสตรีชาวยุโรป รัสเซียและอเมริกาที่เป็นเชื้อชาติที่มีโอกาสป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมสูงกว่าสตรีเอเชียถึง 10 เท่า  

ขณะที่จุดสังเกตแรกที่ถือเป็นอาการนำของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ก็คือการพบก้อนที่เต้านม   หรือมีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม โดยเฉพาะหากของเหลวนั้นเป็นสีเลือดและออกมาจากหัวนมข้างเดียว ก็ควรรีบไปพบแพทย์  เช่นเดียวกับการพบขนาดของเต้านมที่มีการเปลี่ยนแปลงจนขนาดแตกต่างกันมากเกินไป หรือลักษณะหัวนมที่เคยชูชัน แต่กลับหดดึงรั้ง มีการพบผื่นแผลเรื้อรังที่เต้านมที่รักษาไม่หายในเวลา 2 สัปดาห์ มีอาการเจ็บเต้านมมากกว่าปกติตอนก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน ก็ควรตั้งข้อสงสัยว่า อาจเป็นโรคมะเร็งเต้านม  

 “ผมจะสอนคนไข้ที่มาตรวจทุกครั้งว่า เมื่อคุณมีเต้านมก็จะต้องรู้จักการหาความผิดปกติของอวัยวะคุณด้วยตนเอง โดยใช้นิ้ว 3 นิ้วคลำเต้านมจากด้านนอกเข้ามาด้านใน   วนเป็นวงกลมให้ครบทั้งเต้าในลักษณะตามเข็มนาฬิกา ซึ่งหากเจอก้อนที่มีลักษณะคล้ายลูกแก้วให้รีบมาพบแพทย์ และควรคลำเดือนละครั้งหลังมีประจำเดือนประมาณ 1-2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป”

นพ.ฐาปนัสม์ ยังบอกถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนวิชาแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับงานศัลยกรรมเต้านมว่า เกิดจากเมื่อครั้งเป็นแพทย์ประจำบ้านศัลยกรรมทั่วไป ที่ต้องเจอกับการฝึกงานทั้งภาวะโรคและอุบัติเหตุฉุกเฉิน  การอยู่เวรและการอดนอน ซึ่งตนมีความเชื่อว่าจะทำให้การทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพเท่ากับการได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ดังนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษา จึงเริ่มมองว่าวิชาการแพทย์ที่ถนัดกับการใช้ชีวิตประจำวันและยังสามารถนำความรู้ และความชื่นชอบส่วนตัวในงานศิลปะมาประยุกต์ใช้ได้ก็คืองานด้านศัลยศาสตร์เต้านม    

“ผมเลือกที่จะเรียนต่อด้านการผ่าตัด เพราะชอบงานที่ทำได้ด้วยมือของเราเอง ตั้งแต่สมัยเด็กเคยแข่งขันประกวดคัดลายมือชนะเลิศและนิสัยชอบวาดภาพจึงทำให้ยิ่งรู้ว่าตัวเราเองชอบอะไร  พอผมเรียนจบแพทย์ศาสตร์บัณฑิตจากคณะแพทย์ศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเลือกมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดที่รพ.ชลบุรีซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด พอเข้ามาเรียนและทำงานได้เจอทั้งคนไข้ถูกยิงถูกแทง มอเตอร์ไซด์ล้ม อุบัติเหตุรถชน ไส้ติ่งแตก แผลในกระเพาะอาหารทะลุ ฯลฯ  ต้องผ่าตัดฉุกเฉินมากมาย ต้องอยู่เวรทั้งคืน บางคืนไม่ได้พักผ่อนเลยและยังต้องทำงานต่อตอนเช้า บางครั้งรู้สึกร่างกายรับไม่ไหว จนเมื่อมีโอกาสได้ผ่าเต้านม มะเร็งเต้านม ก็เห็นว่าคนไข้ป่วยโรคนี้กันเยอะและโรคทางเต้านมก็ไม่มีภาวะฉุกเฉิน ทำให้สามารถมีเวลาให้ครอบครัวที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตได้เต็มที่ และสุดท้ายคุณแม่ของตัวเองก็ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกเมื่ออายุ 50 ปี ผมเป็นคนผ่าตัดคุณแม่ด้วยตัวเอง และรักษาคุณแม่จนกระทั่งหายขาด จึงเข้าใจหัวอกของคนที่ป่วยเป็นโรคนี้หรือมีญาติสนิทเป็นโรคนี้มากยิ่งขึ้น” 

ในครั้งนั้นเองที่ทำให้คุณหมอ รู้สึกว่าเต้านมคือสิ่งที่สวยงาม แม้แต่ในช่วงที่เป็นโรค ดังนั้นเมื่อต้องมีการผ่าตัดจึงอยากที่จะทำให้เต้านมทั้งในสภาพที่ถูกรักษา และสภาพที่ถูกผ่าตัดออกไปให้กลับมามีความสวยงามเช่นเดิม นอกจากนั้นยังเป็นงานที่สามารถใช้เวลาในการตกแต่งให้สวยงามด้วยศิลปะที่มีความเฉพาะตัวได้ ที่สำคัญในวันนี้โรคมะเร็งเต้านม ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไปเพราะหากคนไข้เข้าตรวจรักษาในระยะเริ่มแรก โอกาสการรักษาให้หายขาดย่อมมีสูงกว่าการปล่อยให้เซลส์มะเร็งกระจายไปยังปอด ตับ และกระดูกจนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ล่าสุดในปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีทางการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ทันสมัยและก้าวหน้า จึงสามารถช่วยให้คนไข้มีโอกาสรอดจากโรคดังกล่าวได้มากขึ้น เช่นเดียวกับการนำเครื่องตรวจแมมโมแกรมแบบ 3 มิติความละเอียดสูงเข้ามาใช้ในศูนย์เต้านม รพ.กรุงเทพพัทยา ที่จะสามารถตรวจหาก้อนมะเร็งขนาดเล็กระยะเริ่มต้นได้อย่างละเอียด และยังมีความพร้อมด้านการรักษาครบวงจรเทียบเท่าโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ  

 “ ที่นี่เป็นศูนย์เต้านมแห่งแรกในภาคตะวันออก  สามารถทำได้ทุกอย่างเกี่ยวกับการรักษา และตรวจวินิจฉัยโรคทางเต้านม  ทั้งการเจาะชิ้นเนื้อขนาดเล็กส่งตรวจ และการผ่าตัดรักษามาตรฐานทุกวิธี ได้แก่ ผ่าตัดเต้านมทั้งเต้า ผ่าตัดแบบสงวนเต้านมและผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ การให้ยาเคมีบำบัดหรือยาต้านฮอร์โมนหลังผ่าตัด รวมทั้งใช้เทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยและการผ่าตัด เช่น การฉีดสีเลาะต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล การตรวจชิ้นเนื้อแบบแช่แข็ง และการเจาะชิ้นเนื้อโดยการใช้แมมโมแกรมแบบ 3 มิติ เป็นต้น ทุกคนจึงมั่นใจได้ว่าโรคมะเร็งเต้านมไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป และรักษาให้หายขาดได้ถ้าพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรคครับ ”นพ.ฐาปนัสม์ กล่าว 

และนี่คืออีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนไข้มะเร็งเต้านม ...108 

 

รับคำแนะนำเพิ่มเติม
 

ข้าพเจ้ายินยอมโดยสมัครใจให้คณะแพทย์ – พยาบาล, เจ้าหน้าที่ และ/หรือ บุคลากรอื่นๆ ในทีมสุขภาพของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ทำการตรวจรักษาและกระทำการใดๆ ตามหลักวิชาชีพทางการแพทย์ เปิดเผยข้อมูลการตรวจรักษาของข้าพเจ้าให้แก่ทีมสุขภาพของโรงพยาบาล ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความจำเป็นในการเข้าถึงข้อมูลของข้าพเจ้า ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับทราบถึงคำประกาศสิทธิผู้ป่วย และ ข้อกำหนดความเป็นส่วนตัวเป็นอย่างดีแล้ว