เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้ออกประกาศเตือนว่าพบเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สายพันธุ์ ‘Omicron’ ที่กำลังระบาดในแอฟริกาใต้ สายพันธุ์ Omicron ถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 และพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ในประเทศแอฟริกาใต้ ไวรัสสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนาม (Spike Protein) 32 ตำแหน่ง เช่น ตำแหน่ง H655Y, N679K และ P681H ซึ่งคาดว่าจะทำให้ดื้อภูมิคุ้มกันและติดเชื้อซ้ำ อาจทำให้แพร่ระบาดเร็วขึ้น สอดคล้องกับการพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแอฟริกาใต้
โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าสายพันธุ์ Omicron เกิดการกลายพันธุ์สะสมในผู้ติดเชื้อเรื้อรังที่ไม่สามารถกำจัดไวรัสได้หมด เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง แล้วแพร่ระบาดกลับเข้ามาในชุมชน ปัจจุบันเรายังไม่ทราบระดับความรุนแรงของโรคที่แน่ชัด เนื่องจากเพิ่งพบการระบาดจึงยังไม่ทราบว่าผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้มีอาการรุนแรงขึ้นหรือไม่
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยหลายสิบรายในแอฟริกาใต้ แสดงอาการเพียงเล็กน้อย อาทิ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอแห้ง อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย และฟื้นตัวเต็มที่โดยไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังไม่พบผู้ป่วยคนใดสูญเสียกลิ่นหรือรับรส ซึ่งต่างจากสายพันธุ์เดลตา รวมถึงไม่พบว่าผู้ป่วยมีระดับออกซิเจนลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย
วัคซีนโควิดที่มีอยู่จะสามารถต้านทานสายพันธุ์ Omicron ได้หรือไม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย โดยวัคซีนโควิดในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพมีหลายชนิด เช่น วัคซีนชนิด mRNA เพราะ เมื่อฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เซลล์ในร่างกายผลิตโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของไวรัสขึ้น และโปรตีนที่ผลิตในส่วนนี้เองจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Antigen) ให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรคโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody)เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว ปัจจุบันมียารักษาที่สามารถคุมอาการและลดความรุนแรงของโรคได้ ได้แก่ยา Antibody cocktail (Casirivimab and Imdevimab) ซึ่งเป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดี ชนิด recombinant human IgG1 จำนวนสองชนิด ซึ่งเป็นยาชนิดมุ่งเป้าออกฤทธิ์ต่อโปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) บนผิวของไวรัส SARS-CoV-2 เป็นการเฉพาะ โดยมีข้อบ่งใช้การรักษาโรค COVID-19 ระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ที่มีผลตรวจยืนยันในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และน้ำหนักตัวตั้งแต่ 40 กก.ขึ้นไป ซึ่งไม่ต้องให้ออกซิเจนเสริมเพื่อรักษาโรค COVID-19 และเป็นผู้ป่วยที่เสี่ยงสูงที่โรคจะดำเนินไปสู่ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- Classification of Omicron (B.1.1.529): SARS-CoV-2 Variant of Concern https://www.who.int/news/item/26-11-2021-classification-of-omicron-(b.1.1.529)-sars-cov-2-variant-of-concern
- Tracking of Variants https://www.gisaid.org/hcov19-variants/
- Twitter/Tulio de Oliveira และ Trevor Bedford
- Pfizer/BioNTech, Moderna expect data on shot’s protection against new COVID-19 variant soon https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/biontech-says-expect-more-data-new-variant-2-weeks-2021-11-26/
- Coronavirus: Hong Kong toughens border controls over heavily mutated new variant, covering 8 African countries https://www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/3157566/coronavirus-hong-kong-imposes-tough-border