การผ่าตัดโรคกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคโพรงประสาทไขสันหลังตีบแคบ เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการปวดหลัง อันส่งผลรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การรักษาหรือบรรเทาอาการเหล่านี้ แพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลและพิจารณาตามความรุนแรงของโรค การรักษาอาจประกอบด้วยการรักษาแบบประคับประคอง เช่น การรับประทานยาต้านการอักเสบ การทำกายภาพบำบัด หรือการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าช่องโพรงประสาท ส่วนการผ่าตัดนั้นเป็นอีกขั้นตอนของการรักษา สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือกายภาพบำบัด ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมีแนวโน้มจะเป็นอาการปวดเรื้อรัง ศัลยแพทย์ออโธปิดิกส์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกสันหลังจะเป็นผู้ประเมินว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาโดยวิธีผ่าตัดหรือไม่ อย่างไร การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยวิธีปัจจุบัน คือการผ่าตัดเปิดแผลผ่านผิวหนังบริเวณเอวเพื่อเข้าไปยังหมอนรองกระดูกหรือโพรงประสาทไขสันหลังยังคงให้ผลการรักษาที่ดี ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาได้พัฒนาการผ่าตัดลดขนาดของแผลให้เล็กลง เหลือเพียง 7-8 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าเป็นแผลผ่าตัดที่เล็กมาก ส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วย ช่วยลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงได้เป็นอย่างดี ทำให้ใช้เวลาพักฟื้นสั้นมาก และสามารถกลับไปทำกิจวัตรปกติได้อย่างรวดเร็ว
การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยการผ่านกล้องเอ็นโดสโคปเป็นอย่างไร
ด้วยการผ่าตัดแบบมาตรฐาน ผ่านแผลเปิดทางผิวหนัง ศัลยแพทย์ต้องทำการผ่าผิวหนังเหนือกระดูกสันหลังบริเวณเอว ตัดเลาะเนื้อเยื่อ รอบๆ แผลผ่าตัดเพื่อเปิดทางเข้าไปตัดหมอนรองกระดูกส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก บางครั้งอาจต้องขยายแผลผ่าตัดเพื่อให้ได้ทัศนวิสัยที่ดีที่สุดในการผ่าตัด ส่งผลให้บาดแผล อาจมีความยาวเฉลี่ยประมาณ 4-10 เซนติเมตร ส่วนการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ศัลยแพทย์จะผ่าผิวหนังเป็นแผลเล็กๆ ขนาด 8 มิลลิเมตร ไม่เกิน 1 เซนติเมตร เพียงเพื่อให้สามารถสอดกล้องเอ็นโดสโคปขนาดเล็กผ่านเข้าไปทำการผ่าตัดได้ เลนส์ของเอ็นโดสโคปนั้นจะอยู่ที่ปลายกล้อง ทำหน้าที่เปรียบเสมือนดวงตาของศัลยแพทย์ที่อยู่ในตัวผู้ป่วย ทำให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจนและแม่นยำสูงผ่านทางหน้าจอมอนิเตอร์ผ่าตัด กล้องเอ็นโดสโคปนี้มีความสามารถขยับไปมาผ่านการสั่งการด้วยมือ ทำให้ศัลยแพทย์สามารถปรับมุมมองตามความต้องการและทำการใส่เครื่องมือผ่านตัวกล้องเข้าไปเลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะเนื้อเยื่อส่วนที่ดีออก ทำให้แผลมีขนาดเล็กมาก
ลักษณะอาการที่สามารถใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปแผลผ่าตัดเล็ก
- หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated Nucleus Pulposus, HNP) เกิดจากการทำงานหนัก ยกของหนัก อุบัติเหตุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเอว ปวดหลังร่วมกับมีอาการร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง
- โพรงประสาทไขสันหลังตีบแคบทับเส้นประสาท หรือ ที่เรียกกันว่ากระดูกทับเส้นประสาท
( Lumbar Spinal Stenosis, LSS) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลัง ปวดเอว ร้าวลงขาเมื่อเดิน ยิ่งเดินมากยิ่งปวด หยุดพักการเดินจึงจะหายปวด เมื่อโรคมีความรุนแรงขึ้น อาการปวดจะมากขึ้น ถี่ขึ้น เกิดได้เร็วขึ้นหลังจากเดินเป็นระยะทางน้อยลง
ผลที่ได้รับจากการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคปแผลผ่าตัดเล็ก
- ความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อย
- ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด
- อาการปวดแผลหลังการผ่าตัดน้อย
- ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว สามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วันหลังการผ่าตัด
โรคกระดูกสันหลังที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกซึ่งมีหน้าที่รองรับแรงกระแทกของกระดูกสันหลังเกิดการเสื่อมสภาพสูญเสียความยืดหยุ่น เมื่อมีแรงกระแทกจะทำให้เกิดการนูนหรือฉีกปลิ้นออกมากดทับเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง
- โรคช่องโพรงประสาทไขสันหลังส่วนเอวตีบแคบเกิดขึ้นจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง เมื่อกระดูกเสื่อมจะทำให้เกิดการหนาตัวขึ้น ร่วมกับเส้นเอ็นยึดกระดูกที่หนาขึ้น ส่งผลให้เส้นประสาทที่อยู่ในโพรงประสาทไขสันหลังถูกกดทับ
ขั้นตอนการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป
หลังจากที่ผู้ป่วยดมยาสลบแล้ว แพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคปผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด เซนติเมตร8 มิลลิเมตรเข้าไปยังเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับอยู่โดยตรง สามารถตัดเลาะเนื้อเยื่อรอบๆ แผลผ่าตัดออกน้อยที่สุด กล้องเอ็นโดสโคปจะช่วยให้แพทย์มองเห็นเส้นประสาทอย่างชัดเจน สามารถเลือกตัดเฉพาะส่วนที่มีการกดทับเส้นประสาทออกได้ ไม่ว่าจะเป็นการกดทับจากหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือการบีบรัดจากกระดูกข้อต่อและเส้นเอ็นก็ตาม ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 20-40 นาทีสำหรับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และ ใช้เวลาประมาณ 60-90 นาที สำหรับการผ่าตัดโพรงประสาทตีบแคบทับเส้นประสาท จากนั้นผู้ป่วยจะพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 คืน แพทย์ก็จะอนุญาตให้กลับบ้านไปพักฟื้น และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้